การนำเข้าของใช้ส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือน
(Importing Personal and Household Effects)
Q: อะไรคือคำจัดความของ “ของใช้ส่วนตัว” ที่สามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยได้?
A: ของใช้ส่วนตัว หมายถึง ของที่มีลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นของที่ใช้เฉพาะตัวของบุคคลผู้นั้นโดยแท้จริง เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือ เป็นต้น หากเจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน สำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพและการศึกษา และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ จะได้รับการยกเว้นอากร เว้นแต่ รถยนต์ สัตว์เลี้ยง อาวุธปืน กระสุนปืน และเสบียงอาหาร
Q: อะไรคือคำจัดความของ “ของใช้ในบ้านเรือน” ที่สามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยได้?
A: ของใช้ในบ้านเรือน หมายถึง ทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว ผู้นำเข้าต้องมีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนการย้ายภูมิลำเนา และได้ผ่านการใช้งานมาแล้ว เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับบ้าน เป็นต้น
Q: หากต้องการนำเข้า “ของใช้ในบ้านเรือน” ต้องเสียอากรหรือไม่?
A: ของใช้ภายในบ้านเรือนที่ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วนั้น จะได้รับการยกเว้นอากรเพียงอย่างละ 1 หน่วย แต่หากย้ายภูมิลำเนาทั้งครอบครัว จะได้รับการยกเว้นอากรอย่างละ 2 หน่วย
ทั้งนี้ผู้ที่นำเข้าของดังกล่าวจะต้องแสดงหลักฐานว่าเป็นชาวไทยที่ได้พำนักอยู่ในประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาไม่น้อยไปกว่า 1 ปี และของที่นำเข้านั้นจะต้องถึงประเทศไทยไม่เกิน 1 เดือน ก่อนที่ผู้นำเข้ามาถึง หรือ ไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้นำเข้ามาถึง และ/หรือนับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิ์
Q: ในกรณีที่นำเข้า “ของใช้ส่วนตัว” หรือ “ของใช้ภายในบ้านเรือน” มากเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ จะต้องทำอย่างไร?
A: “ของใช้ส่วนตัว” หรือ “ของใช้ภายในบ้านเรือน” ที่เป็นส่วนเกินจากอัตราทีกำหนดไว้ จะต้องเสียอากรตามปกติ โดยคำนาณจากหน่วยที่มีค่าอากรสูงสุดหรือราคาสูงสุดตามลำดับ
Q: ต้องการนำเข้ารถยนต์ ต้องทำอย่างไร?
A: รถยนต์ที่ต้องการนำเข้า จะต้องได้รับใบอนุญาตการนำเข้าจากกระทรวงพานิชย์ก่อนที่รถยนต์จะมาถึงประเทศไทย และต้องเสียอากร 200%
ที่มา: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศุลกากร http://www.customs.go.th/